ข้อมูลสำหรับผู้สมัครปริญญาตรี ภาคปกติ ใช้สิทธิ์เทียบโอนหน่วยกิต
:: หน้าแรกรวมหลักสูตรปริญญาตรีภาคปกติ › การเทียบโอนหน่วยกิต
ข้อมูลต่อไปนี้เป็นข้อมูลระดับปริญญาตรี ภาคปกติ

ประเภทการเทียบโอนหน่วยกิตที่มหาวิทยาลัยกำหนด

มหาวิทยาลัยกำหนดคำจำกัดความสำหรับผู้สมัครที่ใช้สิทธิ์เทียบโอนหน่วยกิตไว้ดังนี้
  • จบการศึกษาจากสถาบันอื่น
    รับสมัครผู้ที่สำเร็จการศึกษา ตั้งแต่ระดับอนุปริญญาเป็นต้นไป ได้แก่ จบการศึกษาระดับ ปวส., ปริญญาตรีเป็นต้นไป เทียบโอนหน่วยกิตสะสมได้ตามคุณวุฒิที่ใช้ยื่นสมัคร
  • โอนย้ายสถาบันการศึกษา
    รับสมัครผู้ที่เคยเรียนในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ แต่ไม่จบการศึกษา(รีไทร์, ลาออก,​ ซิ่ล) สามารถโอนย้ายหน่วยกิตจากที่เดิมมาเรียนต่อที่ ม.รามคำแหงได้
  • หมดสถานภาพนักศึกษาจาก ม.รามคำแหง
    หมายถึง นักศึกษาเก่ารามคำแหง ที่ขาดสถานภาพ, ครบ8ปียังไม่จบ, หมดสถานภาพ แต่มีหน่วยกิตที่เคยสะสมเอาไว้เทียบโอนกลับมาเรียนต่อให้จบ
  • เทียบโอนหน่วยกิต 2 สถาบัน
    ผู้ที่เคยสอบสะสมหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหงมาก่อน และจบการศึกษาจากสถาบันอื่น ๆ แล้ว(เช่น จบปวส. จบปริญญาตรี ในลำดับต่อมา) และต้องการนำหน่วยกิตทั้งสองแห่งมารวมกัน ให้เลือกสมัครประเภทนี้
  • ปริญญาที่ 2 จาก ม.รามคำแหง
    ศิษย์เก่า ม.รามคำแหง ที่จบปริญญาเรียบร้อยแล้ว และต้องการเทียบโอนเรียนเพิ่มอีกหนึ่งใบ
  • เทียบโอน Pre-degree ม.รามคำแหง
    เมื่อนักศึกษาพรีดีกรี เรียนจบชั้น ม.6 หรือเทียบเท่า เรียบร้อยแล้ว ให้ยื่นสมัครด้วยดังกล่าว พร้อมเทียบโอนหน่วยกิตที่สะสมไว้ในระบบพรีดีกรี และเป็นสถานะให้เป็นนักศึกษาภาคปกติ

รวบรวมมาจากคำถามที่พบบ่อย จากผู้ที่มีความสนใจสมัครแบบเทียบโอนหน่วยกิต แต่มีคุณสมบัติไม่เข้าเงื่อนไข จึงไม่สามารถสมัครแบบเทียบโอนหน่วยกิตได้ เช่น

  • ผู้ที่กำลังศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาอื่น และยังไม่สำเร็จการศึกษาอย่างเป็นทางการ จะเทียบโอนไม่ได้
  • ผู้ที่กำลังศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาอื่น และยังต้องการเรียนต่อสถาบันเดิมควบคู่กับรามคำแหง จะเทียบโอนไม่ได้(แต่สมัครแบบไม่เทียบโอนได้)
  • ผู้ที่จบ ม.ปลาย หรือ กศน.ม.ปลาย และไม่เคยสะสมหน่วยกิตพรีดีกรีมาก่อน จะเทียบโอนไม่ได้

เอกสารประกอบการสมัครและเทียบโอนหน่วยกิต

  • เกณฑ์การเทียบโอนหน่วยกิต

ขอให้ผู้สมัครตรวจสอบ “เกณฑ์การเทียบโอนหน่วยกิต” จากระเบียบการรับสมัครฯ ซึ่งมีรายละเอียด ข้อกำหนดของการเทียบโอนหน่วยกิตตามคุณวุฒิต่าง ๆ เอาไว้อย่างชัดเจน จึงอยากให้ผู้สมัครดาวน์โหลดและอ่านทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อน

  • ระเบียบการรับสมัครฯ ปริญญาตรี และพรีดีกรี พ.ศ. 2567
    ส่วนกลาง ปี 67 | ส่วนภูมิภาค ปี 67

ตัวอย่าง “เกณฑ์การเทียบโอนหน่วยกิต” ที่อยู่ภายในระเบียบการรับสมัคร ภายในระเบียบการรับสมัคร ประกอบด้วย แผนกำหนดการศึกษา รายละเอียดรายวิชา และปิดท้ายด้วยเกณฑ์การเทียบโอน

ช่องทางการสมัครแบบเทียบโอนหน่วยกิต

ผู้มีสิทธิ์เทียบโอนหน่วยกิต สามารถเลือกสมัครพร้อมเทียบโอนหน่วยกิตได้ 2 ช่องทาง ดังนี้

1. สมัครและเทียบโอน ด้วยตนเองที่มหาวิทยาลัย – แนะนำช่องทางนี้ ง่าย สะดวกที่สุด สำหรับผู้เทียบโอนฯ
ช่วงเวลาที่ดำเนินการได้: สมัครและเทียบโอนได้ในช่วงที่มหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครเท่านั้น
ดำเนินการสมัครและเทียบโอนได้ที่:
ส่วนกลาง ที่อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เวลา 8.30-15.30 น.​(ทุกวันที่เปิดรับสมัคร)
ส่วนภูมิภาค ที่จุดรับสมัคร สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติฯ 23 แห่งทั่วประเทศ เวลา 8.30-15.30 น.​(ทุกวันที่เปิดรับสมัคร)
ขั้นตอนการสมัครแบบเทียบโอนหน่วยกิตด้วยตนเองที่มหาวิทยาลัย: ดำเนินการภายในวันสมัครดังนี้…
  • เตรียมหลักฐานการสมัครและเทียบ ขนาด A4 รับรองสำเนาทุกฉบับ ยื่นสมัครที่มหาวิทยาลัย
  • เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารและออกรหัสประจำตัวนักศึกษา
  • เข้าสู่ขั้นตอนการลงทะเบียนเรียน และเทียบโอนหน่วยกิตโดยเจ้าหน้าที่คณะ
    เจ้าหน้าที่คณะจะพิจารณาวิชาเพื่อเทียบโอนหน่วยกิต และให้คำปรึกษาการเลือกวิชาเพื่อลงทะเบียนเรียนในภาคเรียนนี้ และจะทราบจำนวนหน่วยกิตที่เทียบโอนได้ และค่าใช้จ่ายการเทียบโอนหน่วยกิตในวันเดียวกันนั้น
  • การชำระเงิน อาจแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ค่าสมัครและลงทะเบียนเรียน, และค่าเทียบโอนหน่วยกิต
    – ชำระเงินค่าสมัครและลงทะเบียนเรียน (ต้องชำระวันที่สมัคร)
    – ชำระค่าเทียบโอนหน่วยกิต จะชำระในวันนี้หรือไม่ก็ได้ (กรณีชำระภายหลัง สามารถชำระได้โดยไม่มีค่าปรับภายใน 1 ปี เกิน 1 ปีมีค่าปรับปีละ 600 บาท ได้ที่ กองคลัง อาคารสำนักงานอธิการบดี ชั้น 1 (จันทร์-ศุกร์ 8.30-15.00 น. ปิดบริการวันหยุดราชการ))
  • รับใบเสร็จรับเงินค่าสมัครฯ
  • กลับบ้าน รอเปิดเทอม
  • เมื่อชำระค่าเทียบโอนหน่วยกิตเสร็จสิ้น หน่วยกิตที่เทียบโอนได้จะเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของนักศึกษา
2. สมัครและเทียบโอนฯ ผ่านระบบออนไลน์
ช่วงเวลาที่ดำเนินการได้: สมัครและเทียบโอนได้ในช่วงที่มหาวิทยาลัยเปิดรับสมัครเท่านั้น
ดำเนินการสมัครและเทียบโอนได้ที่:
เว็บไซต์รับสมัครนักศึกษาใหม่ ป.ตรี (ภาคปกติ) iregis2.ru.ac.th
ขั้นตอนการสมัครแบบเทียบโอนหน่วยกิตด้วยตนเองที่มหาวิทยาลัย: ผู้สมัครและเทียบโอนหน่วยกิตผ่านระบบออนไลน์ เมื่อดำเนินการผ่านระบบแล้ว ต้องดำเนินการที่มหาวิทยาลัยอีกครั้ง โดยมีขั้นตอนดังนี้…
  • เตรียมหลักฐานการสมัครและเทียบโอนในรูปแบบไฟล์ .PDF ขนาด A4 รับรองสำเนาทุกฉบับ
  • เข้าสู่เว็บไซต์รับสมัคร กรอกข้อมูล เลือกคณะ และรับรหัสผ่านสำหรับเข้าสู่ระบบครั้งต่อไป
  • เลือกวิชาลงทะเบียนเรียน และอัพโหลดเอกสารส่วนตัว, เอกสารการเทียบโอนหน่วยกิต – รอเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารในระบบ 3-5 วันทำการ
  • เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารที่อัพโหลดไว้ในระบบ
    เจ้าหน้าที่จะพิจารณาวิชาที่รายวิชาที่เลือกลงทะเบียนเรียน ควบคู่กับเอกสารที่ยื่นเทียบโอนหน่วยกิตไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน และอนุมัติการลงทะเบียนเรียน/กรณีไม่อนุมัติ ผู้สมัครต้องแก้ไขสับเปลี่ยนวิชาที่เลือกลงทะเบียนเรียนใหม่ – ขั้นตอนนี้ใช้เวลา 3-5 วันทำการหลังจากบันทึกข้อมูล ให้ผู้สมัครเข้าสู่ระบบตรวจสอบเป็นระยะ
  • เมื่ออนุมัติการลงทะเบียนเรียน ให้ชำระเงินค่าสมัครและลงทะเบียนเรียน และบันทึกข้อมูลการชำระเงินในระบบรับสมัคร (การชำระเงินครั้งนี้ ยังไม่ต้องชำระค่าเทียบโอนหน่วยกิต)
  • ระบบจะดำเนินการไปทีละขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการออกรหัสประจำตัว, ขั้นตอนการออกใบเสร็จรับเงินค่าสมัคร, ขั้นตอนการผลิตบัตรประจำตัวนักศึกษา – ในแต่ละขั้นตอนใช้เวลา 3-5 วันทำการ ให้ผู้สมัครเข้าสู่ระบบตรวจสอบเป็นระยะ
  • เปิดเทอม
  • หลังจากเปิดเทอมแล้วประมาณ 1 เดือน ให้นักศึกษาดำเนินการ “เทียบโอนหน่วยกิตอย่างเป็นทางการ” ณ ที่คณะที่สังกัด โดยยื่นเอกสารการเทียบโอน+ใบเสร็จรับเงินค่าสมัคร แก่เจ้าหน้าที่คณะ เจ้าหน้าที่จะออกเอกสารการเทียบโอนจะทำให้ทราบจำนวนหน่วยกิตที่เทียบโอนได้และค่าใช้จ่ายการเทียบโอนหน่วยกิต
  • นำใบเทียบโอน ไปชำระเงินค่าเทียบโอนหน่วยกิตที่ กองคลัง อาคารสำนักงานอธิการบดี ชั้น 1 (จันทร์-ศุกร์ 8.30-15.00 น. ปิดบริการวันหยุดราชการ) และทำตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ
  • เมื่อชำระค่าเทียบโอนหน่วยกิตเสร็จสิ้น หน่วยกิตที่เทียบโอนได้จะเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลของนักศึกษา

ค่าเทียบโอนหน่วยกิต

มหาวิทยาลัยรับเทียบโอนหน่วยกิตในกรณีต่างๆ โดยคิดอัตราเทียบโอน ดังนี้

วุฒิการศึกษาที่ยื่นเทียบโอนอัตราค่าเทียบโอน
ยื่นเทียบโอนด้วยวุฒิ ปวส.100 บาท/หน่วยกิต
จบปริญญาตรีจากสถาบันอื่น100 บาท/หน่วยกิต
ไม่จบปริญญาตรีจากสถาบันอื่น (โอนย้ายสถาบัน)100 บาท/หน่วยกิต
ยื่นเทียบโอนด้วยวุฒิปริญญาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง50 บาท/หน่วยกิต
ยื่นเทียบโอนจากระบบพรีดีกรีเป็นนักศึกษาภาคปกติ50 บาท/หน่วยกิต
ยื่นเทียบโอน กรณีเคยเรียนรามคำแหงมาก่อน
(หมดสถานภาพ, 8ปี, ขาดสถานภาพ)
50 บาท/หน่วยกิต

การชำระค่าเทียบโอนหน่วยกิต

ผู้สมัครแบบใช้สิทธิ์เทียบโอนหน่วยกิตทุกช่องทาง สามารถชำระเงินค่าเทียบโอนหน่วยกิตโดยไม่มีค่าปรับภายใน 1 ปีนับจากวันสมัคร หากเกิน 1 ปี ต้องชำระค่าปรับกรณีล่าช้า ปีการศึกษา 600 บาท (ภาคเรียนละ 300 บาท) และการชำระค่าเทียบโอนหน่วยกิต ไม่สามารถแบ่งชำระได้ ต้องชำระเต็มจำนวน
  • คำถามที่พบบ่อย ? (FAQ)
ตามข้อมูลที่ปรากฎใน “ระเบียบการรับสมัคร” และ “เกณฑ์การเทียบโอนหน่วยกิต”
(1) ผู้สมัครที่ยื่นคุณวุฒิเทียบโอนหน่วยกิตจากสถาบันอื่น รับเทียบวิชาและโอนหน่วยกิตเป็นหมวดวิชา เช่น หมวดวิชาศึกษาทั่วไปทั้งหมวด ส่วนวิชาแกน วิชาเฉพาะ วิชาเลือกเสรี จะเทียบโอนให้หรือไม่นั้น โปรดตรวจสอบจาก “เกณฑ์การเทียบโอนหน่วยกิต” ของคณะที่จะทำการสมัคร
(2) ผู้สมัครที่ยื่คุณวุฒิเทียบโอนหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหง โปรดตรวจสอบจาก “เกณฑ์การเทียบโอนหน่วยกิต” ของคณะที่จะทำการสมัคร
ดาวน์โหลดเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการเทียบโอนหน่วยกิต
ได้จากกรอบ “เกณฑ์การเทียบโอนหน่วยกิต” อยู่ตอนต้นของเว็บไซต์นี้

ตามข้อมูลที่ปรากฎใน “ระเบียบการรับสมัคร” และ “เกณฑ์การเทียบโอนหน่วยกิต” ระบุว่า
(1) ผู้สมัครที่ยื่นคุณวุฒิเทียบโอนหน่วยกิตจากสถาบันอื่น กระบวนวิชาที่เทียบโอนหน่วยกิตได้จะได้เกรด C+
(2) ผู้สมัครที่ยื่คุณวุฒิเทียบโอนหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยรามคำแหง กระบวนวิชาที่เทียบโอนหน่วยกิตได้จะได้เกรดเดิมตามที่สอบได้
ดาวน์โหลดเอกสารสำคัญเกี่ยวกับการเทียบโอนหน่วยกิต
ได้จากกรอบ “เกณฑ์การเทียบโอนหน่วยกิต” อยู่ตอนต้นของเว็บไซต์นี้

คำถามที่มีผู้สอบถามมากเรื่องหนึ่ง คือ เทียบโอนแล้วต้องเรียนอีกกี่ปี ? รอบรั้วรามฯ ขออธิบายและนำเสนอด้วยข้อมูลต่อไปนี้

แผนภูมิสะสมหน่วยกิต กรณีตัวอย่าง สมัครเรียนคณะนิติศาสตร์(แผนการเรียน 140 หน่วยกิต) โดยยื่นสมัครด้วยวุฒิ ปวส. ซึ่งสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ประมาณ 27 หน่วยกิต เหลือหน่วยกิตที่ต้องสะสมอีก 113 หน่วยกิต
ต้องเรียนอีกกี่ปีจึงจะจบ ? …..เรื่องความเร็วนี้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของนักศึกษาเอง ว่าจะสอบสะสมหน่วยกิตที่เหลือได้ไวที่สุดแค่ไหน ? ซึ่งถ้าวางแผนการเรียนได้ดี และสอบสะสมหน่วยกิตได้ผ่านเยอะๆในแต่ละภาคเรียน ก็จบไวได้แน่นอน กรณีตัวอย่าง เหลือหน่วยกิตที่ต้องสอบสะสมอีก 113 หน่วยกิต สามารถสอบสะสมได้เร็วที่สุดภายใน 2 ปีครึ่ง เพราะมหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดให้ลงทะเบียนเรียนและสอบสะสมหน่วยกิตได้สูงสุด ปีการศึกษาละ 51 หน่วยกิต (2 ปี = 51+51 = 102 หน่วยกิต และเรียนอีกครึ่งปีก็น่าจะครบ) โดยสามารถแจกแจงจำนวนหน่วยกิตที่ลงทะเบียนเรียนได้ ดังนี้
1 ปีการศึกษา ประกอบด้วย 3 ภาคเรียน คือ
  • ภาคเรียนที่ 1 สะสมได้สูงสุด 21 หน่วยกิต
  • ภาคเรียนที่ 2 สะสมได้สูงสุด 21 หน่วยกิต
  • ภาคฤดูร้อน สะสมได้สูงสุด 9 หน่วยกิต
    รวม 21+21+9 = 51 หน่วยกิต/ปีการศึกษา
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำได้ …..เพราะการสอบเพื่อสะสมได้สูงสุดเต็มจำนวนในทุกๆภาคเรียนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่าง ตั้งแต่การวางแผนการลงทะเบียนและเลือกวิชาที่ดีมีความเหมาะสม(นักศึกษารามคำแหง ต้องเลือกวิชาเรียนด้วยตนเองทุกภาคเรียน) การวางแผนการสอบก็สำคัญมาก วันสอบของวิชานั้นๆอาจเป็นวันที่เราไม่สะดวก เราอาจสอบตก เราอาจติดธุระจนไปสอบไม่ได้จนต้องขาดสอบ ลืมลงทะเบียนสอบซ่อม และเหตุผลร้อยแปด ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้ระยะเวลาการเรียนเพิ่มขึ้นด้วย จึงการันตีระยะเวลาเรียนของแต่ละคนไม่ได้

…แต่ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ เราคิดว่าคุณทำได้แน่นอน น้อยคนนักที่จะอ่านมาถึงตรงนี้ เราเชื่อว่าคุณมีศักยภาพด้านการอ่าน การวางแผน การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง เราขออวยพรให้คุณประสบความสำเร็จทางการเรียน และจบได้เร็วเท่าที่ตั้งใจไว้…